-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 675 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

สละ




หน้า: 2/3

สละ เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหอมหวานเฉพาะตัว เป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตในเชิงการค้าได้ค่อนข้างเร็ว สามารถปลูกได้ดีเกือบทุกสภาพพื้นที่ พันธุ์ที่นิยมปลูก

1. "พันธุ์เนินวง" ขนาดตะโพกหรือลำต้นเล็กกว่าระกำ บริเวณกาบใบมีสีน้ำตาลทอง ปลายใบยาว หนามของยอดที่ยังไม่คลี่มีสีขาว ผลมีรูปร่างยาว หัวท้ายเรียวคล้ายกระสวย หนามผลยาว อ่อนนิ่ม ปลายหนามงอนไปทางท้ายผล เนื้อมีสีเหลืองนวลคล้ายน้ำผึ้งหนานุ่ม รสชาติหวานหรือหวานอมเปรี้ยว ทานแล้วรู้สึกชุ่มคอ กลิ่นหอม เมล็ดเล็ก

2. "พันธุ์หม้อ" ขนาดตะโพกหรือลำต้นเล็ก ใบมีสีเข้มกว่าพันธุ์เนินวง ข้อทางใบถี่ สั้น หนามยาวเล็กและอ่อนกว่าพันธุ์เนินวง ช่อดอกยาว ติดผลง่ายกว่าพันธุ์เนินวง ผลคล้ายระกำ เปลือกผลสีแดงเข้ม เนื้อสีน้ำตาลมีลาย เนื้อหนาแต่ไม่แน่น รสชาติหวาน มีกลิ่นเฉพาะ เมล็ดเล็ก ทนต่อสภาพแสงแดดจัดได้ดีกว่าพันธุ์เนินวง

3. "พันธุ์สุมาลี" เป็นพันธุ์ใหม่ ลำต้นคล้ายระกำ ทางใบยาวมีสีเขียวอมเหลือง ใบใหญ่กว้างและปลายใบสั้นกว่าพันธุ์เนินวง หนามของยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่มีสีส้มอ่อน คานดอกยาว ช่อดอกใหญ่ ติดผลง่าย ผลมีรูปร่างป้อมสั้น สีเนื้อคล้ายสละเนินวง เนื้อหนากว่าระกำ แต่บางกว่าพันธุ์เนินวง รสชาติหวาน มีกลิ่นเฉพาะ เจริญเติบโตเร็วและทนต่อสภาพแสงแดดจัดได้ดีกว่าพันธุ์เนินวง

การเลือกซื้อสละ
o โดยทั่วไปสละแต่ละพันธุ์มีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก จะต่างกันที่บางพันธุ์มีลักษณะพิเศษ คือ ลำต้นไม่มีหนามและบางพันธุ์ผลจะมีลักษณะยาวรีและเปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม เช่น สละพันธุ์เนินวง

o สละจะมีรสชาติหอมหวาน ส่วนระกำจะเปรี้ยวอมหวาน
o ผลระกำจะมีเมล็ด 2-3 เม็ด แต่สละจะมีเพียง 1-2 เมล็ด

o สละนิยมทานผลสด แต่ระกำนิยมไปเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น ปลาทูต้มระกำ เป็นต้น

o การแกะเปลือกสละและระกำ ให้เปิดเปลือกจากก้นผลแล้ววนรอบผล จะแกะง่ายและไม่ทำให้เนื้อช้ำแต่ถ้าเปลือกก่อนเป็นชิ้น ๆ แสดงว่าไม่สดเพราะเปลือกแห้งเกินไป

ประโยชน์จากสละ
o แปรรูป ทานสดหรือทำเป็นน้ำสละ สละลอยแก้ว หรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ต้องการความเปรี้ยว หวาน

o ประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อสละมีกรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามินซีเล็กน้อย ฟอสฟอรัสและสารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ข้อมูลจาก สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง
 


สละพันธุ์อินโดนีเซีย พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง



สละอินโดนีเซีย
... เป็นพืชพื้นเมืองที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในประเทศอินโดนีเซีย เกษตรกรในประเทศดังกล่าวนิยมปลูกสละ เนื่องจากให้ผลผลิตเร็ว เพียงอายุประมาณ 2 ½ -3 ปี  และสามารถจำหน่ายได้ราคาดี  ดูแลรักษาง่าย  และทางภาคใต้ของประเทศไทย   โดยมีสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทางธรรมชาติคล้ายกับประเทศอินโดนีเซีย         

จากการที่เกษตรกรทดลองปลูกสละดังกล่าวแล้ว พบว่าให้ผลผลิตใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย จึงเห็นว่า...สละอินโดนีเซียจึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรไทย



สละอินโดนีเซีย

เป็นพืชตระกูลเดียวกับระกำ (ตระกูล Palmae) มีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปุนดุก บาหลี คอนเด็ต ปาดังซีเดมป้าน มานนจายา บาดูรา อัมบาวา และ บันจัรบือการา  ส่วนพันธุ์สละที่นิยมปลูกในประเทศอินโดนีเซีย  คือ พันธุ์ปุนดุก  และพันธุ์บาหลี  เนื่องจากมีรสชาติหวาน กรอบ เนื้อหนา ส่วนอีก 6 พันธุ์ ที่เหลือจะไม่นิยมปลูกเพราะมีรสหวานปนเปรี้ยว  ฝาด  และขม


นายหะยีตือเงาะ สายาดะ (พ่อ)  และ นายดอเลาะ สายาดะ (ลูก) หมู่ที่ 3  ตำบลบาลอ อำเภอรามัน  จังหวัดยะลา    เป็นเกษตรกรที่ปลูกสละพันธุอินโดนีเซีย  ได้ผลผลิตและสามารถจำหน่ายได้แล้วได้ราคาดี  โดยจำหน่ายกิโลกรัมละ   120 บาท    นอกจากนั้นเกษตรกรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะเด่นของสละพันธุ์อินโดนีเซียที่เขาปลูก    คือ  เนื้อหนา   รสหวานกรอบ   ไม่ติดเมล็ด   ออกผลเร็วต้นเตี้ย  และง่ายต่อการดูแลรักษา  ไม่มีโรคแมลงมารบกวน

นายหะยีตือเงาะ สายาดะ
ได้เล่าให้ฟังถึงแรงจูงใจในการปลูกสละว่า “เดิมปลูกลองกองอยู่แล้ว จำนวน 5 ไร่ ซึ่งขณะนั้น ลองกองอายุได้ 26 ปีแล้วและประสบปัญหาหนอนชอนใต้ผิวเปลือก จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนพืชตัวใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว      และสามารถใช้พื้นที่ลองกองเดิม  5 ไร่  ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  จึงตัดสินใจซื้อต้นสละจากประเทศอินโดนีเซีย    เมื่อปี  2543   จำนวน   660  ต้น ๆ  ละ 60 บาท  โดยนำมาปลูกเป็นแถวแซมระหว่างต้นลองกอง  ระหว่าง 3 X 5 เมตร  เมื่อปลูกได้ระยะหนึ่งพบว่าปัญหาหนอนชอนใต้ผิวเปลือกลองกองลดลง  จึงตัดสินใจปลูกกต้นสละร่วมกับต้นลองกอง และปลายปี 2545   ได้ผลผลิตออกมา   20   กิโลกรัม    จำหน่ายได้กิโลกรัมละ   120  บาท     ซึ่งเป็นราคาที่ดีมาก ”

ผู้เขียนได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูก  การดูแลรักษา โรคแมลงต่าง ๆ ซึ่งเกษตรกร  ได้เล่าให้ฟังต่อว่า "สละพันธุ์อินโดนีเซียสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่และสามารถเจริญเติบโตได้ดี   หากปลูกในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง   และสามารถปลูกเป็นพืชแซม    ร่วมกับพืชอื่นจะดีกว่าเพราะเกษตรกรจะมี   รายได้จากพืชหลักอยู่แล้วควรปลูกระหว่าง 3X5 เมตร  สำหรับการดูแลรักษาก็เหมือนพืชทั่วไปคือใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ   เช่น  15–15–15   หรือ  16–16–16  จำนวน 3  ครั้ง/ปี   หากพื้นที่ฝนไม่ตกควรให้น้ำประมาณ 2–3  ครั้ง/สัปดาห์  จากนั้นสละจะออกดอกเมื่ออายุ 2 ½-3 ปี  และเก็บเกี่ยวได้ภายใน  8 เดือน หลังจากดอกบาน  ส่วนโรคและแมลงจะไม่พบและง่ายต่อการดูแลรักษา” ผู้เขียนได้สอบถามถึงข้อจำกัด   ตลอดจนปัญหาอุปสรรคอื่นๆ ได้รับการอธิบายเพิ่มเติมว่า "ปัญหาอุปสรรคมีไม่มากเท่าไรนัก คือเกี่ยวกับการผสมเกสร  ซึ่งสละมี 2 ประเภท คือ

ต้นสละตัวผู้ และต้นสละตัวเมีย  ถ้าขาดตัวหนึ่งตัวใดจะไม่ติดผล โดยส่วนใหญ่ต้องการตัวผู้ : ตัวเมีย อัตราส่วน 2 : 1 ซึ่งสละที่ปลูกอยู่แล้ว 660 ต้น จะเป็นตัวเมีย 450 ต้น  และตัวผู้  210 ต้น     นอกจากนั้นเรายังต้องช่วยผสมเกสรโดยนำเกสรจากดอกตัวผู้มา ผสมกับดอกตัวเมีย ซึ่งจะทำให้ติดผลเช่นเดียวกัน” สำหรับโครงการเกี่ยวกับสละที่จะทำต่อไป     

ได้รับการเปิดเผยต่อไปว่า "ตอนนี้ไม่คิดจะปลูกเพิ่มแล้วเพราะเต็มพื้นที่แต่ได้ขยายพันธุ์ต้นสละเพื่อจำหน่ายจำนวน 500 ต้น ๆ ละ 30 บาท ซึ่งตนได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกการดูแลรักษา ความรู้ทาง วิชาการและการขยายพันธุ์จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอรามัน  และสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา” เขากล่าวในที่สุด จากข้อมูลและคำบอกเล่าข้างต้น….คงจะเป็นการยืนยันได้ถึงจุดเด่นของสละอินโดนีเซีย   ซึ่งเป็นพืชเศรษกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง เนื่องจากรสชาติหวาน  เนื้อหนา ผลร่อนไม่ติดเมล็ดต้นเตี้ย  ให้ผลผลิตเร็ว ราคาดี  และง่ายต่อการดูแลรักษาของเกษตรกร  คงจะเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจของเกษตรกรที่จะปลูกสละพันธุ์อินโดนีเซียต่อไป   

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  โทร... 073 – 216610    หรือ  E – mail  :
yala@doae.go.th อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หรือได้ที่เว็บไซด์   http:yala.doae.go.th  ในเวลาราชการ



ภัทรวดี   จินดาพันธ์
กัสมัน    ยะมาแล
สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา




ศุภชัย นิลวานิช

ปลูกสะละแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน
งานได้ผลดี ของ ลุงห้อม จันทร์คง


ในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันมีเนื้อที่ว่างระหว่างต้นและแถวมาก และส่วนใหญ่ทิ้งไว้เฉยๆ ปล่อยให้วัชพืชขึ้นเต็มพื้นที่

แต่สำหรับสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันของ ลุงห้อม และ ป้าแผ่ว จันทร์คง อยู่บ้านเลขที่ 13 หมู่ 8 ตำบลตะกุกใต้ กิ่งอำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. (06) 267-1919 ไม่ได้ปล่อยพื้นที่ว่างเหมือนกับสวนทั่วๆ ไป กล่าวคือ ลุงและป้าได้นำสะละสายน้ำผึ้งมาทดลองปลูกระหว่างแถวของสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน

แม้ว่าเริ่มดำเนินการมาได้เพียง 3 ปี เท่านั้น แต่ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันไม่มีแนวโน้มว่าผลผลิตลดลง ส่วนสะละนั้นให้ผลค่อนข้างดีเช่นกัน

ลุงห้อม และป้าแผ่ว มีเนื้อที่ปลูกยางพารา 10 ไร่ และปาล์มน้ำมัน 80 ไร่
"เดิมนั้นผมมีสวนยางมากกว่าปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อยางราคาตกก็โค่นทิ้งแล้วหันไปปลูกปาล์ม ซึ่งตอนนี้พืชทั้ง 2 ชนิด ราคารับซื้อค่อนข้างสูง ทำรายได้ให้ผมเยอะมาก แต่ผมก็ยังดิ้นรนเสาะหาอาชีพใหม่มาเสริม เนื่องจากทั้งยางและปาล์มราคารับมีขึ้นและลดตลอด เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ผมจึงทดลองปลูกสะละเสริมไปด้วย เกิดวันไหนราคาลดลง สะละที่ปลูกเสริมไว้อาจทำรายได้เข้ามาจุนเจือได้อีกทางหนึ่งด้วย" ลุงห้อม กล่าว

สะละ สายพันธุ์นำเข้า 8 ลูก ต่อกิโลกรัม
"ผมคิดอยู่ตลอดว่า เรามีพื้นที่ว่างระหว่างแถวของยางและปาล์ม ควรจะหาพืชชนิดไหนมาปลูกแซมดี ที่สุดความคิดมาอยู่ที่สะละ เนื่องจากพืชตระกูลนี้ โดยเฉพาะระกำชอบแสงรำไรและอยู่อาศัยในสวนยางได้ จึงได้เสาะหาพืชตระกูลนี้มาปลูก ช่วงแรกๆ คิดจะซื้อสะละพันธุ์เนินวงมาปลูกเหมือนกัน แต่เมื่อเช็กไปเช็กมาสะละพันธุ์นี้ยังมีจุดด้อยอยู่ จึงเสาะหาพันธุ์ๆ ใหม่มาปลูกดีกว่า" ลุงห้อม กล่าว

เขาเสาะหาสายพันธุ์สะละที่มีคุณภาพมาปลูกอยู่ค่อนข้างนาน ก็ยังไม่พบ จึงได้สอบถามเพื่อนชาวมาเลเชียดูว่า มีสะละสายพันธุ์ดีๆ จำหน่ายหรือไม่

ไม่กี่วันหลังจากสอบถามไป เพื่อนชาวมาเลเซียก็ติดต่อกลับมาว่า ที่ประเทศมาเลเซียมีสะละสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น รสชาติ หวาน หอม และผลใหญ่มาก

"ผมจึงทดลองซื้อมาปลูก 540 ต้น ในราคาต้นละ 230 บาท โดยปลูกแซมในสวนยางและปาล์ม นอกจากนี้ ทดลองปลูกในพื้นที่ว่างเปล่าข้างบ้านด้วย ปรากฏว่า มันให้ผลไม่แตกต่างกันเลย"

เขาบอกว่า สะละพันธุใหม่ที่นำมาปลูกนี้ใช้ระยะเพียง 1 ปีครึ่ง ออกดอกผสมเกสรกันแล้ว หลังจากนั้นอีก 6 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายได้เลย

"ปีนี้ผลผลิตสะละหลังจากแจกจ่ายเพื่อนๆ บ้านและกินเองแล้ว ยังเหลือไว้อีก 300 กิโลกรัม ทดลองขายราคาสูงถึง 200 บาท ต่อกิโลกรัม ก็มีคนเข้ามาอุดหนุนกันมาก จนสินค้าหมดเกลี้ยงในเวลารวดเร็ว และมีการสั่งจองล่วงหน้าด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ารสชาติของสะละสายพันธุ์นี้ หวาน และหอมมากกว่าสายพันธุ์เดิมๆ มาก อีกทั้งผลผลิตที่ได้ก็ใหญ่ด้วย คือ ประมาณ 8 ลูก ต่อกิโลกรัม" ลุงห้อม กล่าว

หวาน หอม ใหญ่ คือคุณสมบัติพิเศษของสะละสายพันธุ์นี้ มิแปลกที่สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงถึง 200 บาท ต่อกิโลกรัม

สะละดังกล่าวลุงห้อมตั้งชื่อพันธุ์ว่า สะละน้ำผึ้งไวท์ ตามคุณสมบัติพิเศษ หวาน หอม ใหญ่ นอกจากนี้ สีของผลยังเป็นสีขาวน่ารับประทานด้วย

ขยายพันธุ์ขายและปลูกเอง
"ตอนนี้ผมได้ขยายพันธุ์ โดยการนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะไว้ในถุงจำนวนมากเลย จุดประสงค์ทั้งขายพันธุ์และปลูกเอง ซึ่งขณะนี้ได้นำต้นพันธุ์สะละที่ขยายพันธุ์ได้ไปปลูกระหว่างแถวปาล์มและยางหลายแปลงแล้ว อีกสัก 1-2 ปี คงจะมีผลผลิตออกวางขายตามท้องตลาด และราคาอาจจะลดลงบ้างเล็กน้อยตามปริมาณที่ผลิตได้" ลุงห้อม กล่าว

เมล็ดพันธุ์ที่เขามาขยายพันธุ์นั้น ได้จากต้นพันธุ์ที่ปลูกเอาไว้ โดยนำเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่แก่จัดหรือรสชาติอมเปรี้ยว อมหวาน มาขยายพันธุ์ในถุงเพาะชำ ภายในโรงเรือนที่มีซาแรนพรางแสงแดด

"ผมเคยนำเมล็ดพันธุ์ที่แก่จัดมาขยายพันธุ์ปรากฏว่าเสียหายเกือบทั้งหมด เพราะว่าไม่มีรากออกมา แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่สุกหรือแก่มากนักมาขยายพันธุ์ พบว่า ออกรากได้ดี และเสียหายน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง"

ดินที่ใช้เพาะขยายพันธุ์เป็นดินปลวกผสมกับแกลบ
สำหรับขั้นตอนการขยายพันธุ์นั้น ลุงห้อม บอกว่า เมื่อเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมแล้ว นำเมล็ดสะละมาแช่น้ำไว้ 2 วัน จากนั้นนำไปฝังดินอีก 15 วัน รดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอด

เมล็ดสะละจะออกรากยาว แล้วนำมาปลูกในถุงเพาะชำอีก 4 เดือน หรือจนกว่าแตกใบประมาณ 4 ใบ จากนั้นก็นำไปปลูกได้เลย

"ธรรมชาติของสะละพันธุ์นี้จะแตกใบเดือนละ 1 ใบ และหลังจากปลูกได้ 1 ปีครึ่ง ก็ออกดอกและอีก 6 เดือน ต่อมาก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผลไม้ที่คืนทุนได้เร็วทีเดียว" ลุงห้อม กล่าว

ปลูกง่าย เจริญเติบโตดี
สละนอกจากเป็นพืชให้ผลผลิตเร็วแล้ว ยังเจริญเติบโตได้ดีในทุกๆ สภาพพื้นที่ด้วย แต่ในการปลูกช่วงแรกๆ จำเป็นต้องรดน้ำบ้าง เพื่อให้รากยึดดินได้เร็วขึ้น

"ผมจะปลูกสะละในช่วงฤดูฝน เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาและแรงงานมารดน้ำ ส่วนใหญ่รดน้ำครั้งเดียวในวันปลูก จากนั้นก็จะปล่อยให้ธรรมชาติเลี้ยง ยกเว้นช่วงฝนหยุดตกหลายวัน อาจจะเสียเวลาตักน้ำไปรดบ้าง แต่หลัง 6 เดือนไปแล้ว ไม่ต้องดูแลอะไรให้มากเลย ปล่อยให้ธรรมชาติเลี้ยงอย่างเดียว"

สำหรับขั้นตอนการปลูกนั้นเขาจะขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และลึก 1 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ขี้ไก่หรือขี้วัว จากนั้นนำหน้าดินถมทับลงไป

นำต้นสะละลงปลูก โดยแหวกหน้าดินให้เท่ากับดินในถุงเพาะชำ แล้วโรยปุ๋ยคอกรอบโคนต้นอีกครั้ง

ปลูกเสร็จรดน้ำเล็กน้อย และทุกๆ 3 เดือน จะนำปุ๋ยคอกมาโรยบริเวณโคนต้น เพื่อเพิ่มธาตุอาหาร ส่งผลให้ต้นสะละเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

"ผมจะปลูกสะละระหว่างแถวของต้นยางหรือปาล์ม โดยห่างกันแต่ละต้นประมาณ 3 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ค่อนข้างเหมาะสม ไม่ชิดหรือห่างเกินไป" ลุงห้อม กล่าว

ช่วยผสมเกสร เพื่อเพิ่มผลิต
หลังปลูกสะละได้ 1 ปีครึ่งแล้ว สะละตัวเมียออกดอก ตัวผู้ก็ออกเกสร หากปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองหรือใช้แบบธรรมชาติมันจะให้ผลผลิตค่อนข้างน้อย เนื่องจากแมลงที่นำพาเกสรมาผสมกับดอกตัวเมียมีปริมาณน้อย อีกทั้งสายพันธุ์ที่ซื้อมาจากประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นตัวเมียเสียมากกว่า

"เราจะไม่ปล่อยให้มันผสมกันเอง เพราะว่าไม่ทั่วถึง และอาจส่งผลให้ผลผลิตออกจำนวนน้อย ทุกเช้าผมจะชวนภรรยาออกไปเช็กความสมบูรณ์ดอก หากว่ามีดอกเริ่มบาน เราก็นำเกสรตัวผู้ที่เก็บไว้ไปป้ายติด โดยใช้พู่กันวาดรูปเป็นอุปกรณ์นำเกสรสัมผัสดอก จากนั้นหาใบตองมาปิด เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่พึงประสงค์ไปรบกวน"

ลุงห้อม บอกว่า ตอนนี้เรามีต้นพันธุ์ตัวผู้ประมาณ 10 ต้น เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ก็เพียงพอ หากใช้วิธีการดังกล่าว

"นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผมเท่านั้น เราต้องศึกษากันอีกมาก เพราะว่าที่ผ่านมาผมไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ลองผิด ลองถูกมาตลอด อาศัยเราใจสู้ ขยัน และรู้จักสังเกต ทำให้มีวันนี้ได้"

3 ปีที่ทดลองปลูกสะละ เขาบอกว่า ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เนื่องจากเรายังไม่รู้ข้อมูลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตหรือค่าใช้จ่ายต่อต้นเท่าไร และระยะเวลาที่ให้ผลเต็มที่เมื่อไร เรารู้เพียงแต่ว่าปลูกแซมในสวนยางและปาล์มได้ และมีรสชาติ หวาน หอม ผลผลิตใหญ่ นอกจากนี้ เป็นที่ต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคด้วย

"นับจากนี้ไปผมจะศึกษาลงลึกให้ได้ เพื่อที่จะมีคำตอบให้กับผู้สนใจได้ทุกๆ เรื่อง" ลุงห้อม กล่าวทิ้งท้าย



ที่มา :
http://www.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=0508151047&srcday=2004/10/15&search=no

http://www.news.cedis.or.th/detail.php?id=1757&lang=en&group_id=1



เรื่อง :
ไปดูเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จ.พัทลุง ปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้ง เพิ่มมูลค่าให้สวนไม้ผล
   
ปัญหา :
 
 
สะลักพันธุ์น้ำผึ้ง หรือสะละพันธุ์น้ำผึ้ง บางคนเรียกว่า สะลักอินโดฯ คือ พืชสกุลระกำ (Salacca sp.) ไม้ผลที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการไม้ผลไทยประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ก็ยังได้รับความสนใจจากเกษตรกร มีการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กระทั่งภาคตะวันออกของประเทศ เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ขายได้ราคาดี เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งแซมในสวนผลไม้เก่า หรือสวนยางพารามากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น แต่ผลผลิตก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

สะลักพันธุ์น้ำผึ้ง เป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ให้ผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี และต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ลักษณะภายนอกเปลือกสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ลายคล้ายเกล็ดงู รูปร่างเป็นทรงกลม ภายในจะมีเมล็ด 2-3 เมล็ด มีสีครีม รสชาติหวาน กรอบ เนื้อล่อนไม่ติดเมล็ด ต่างจากสะละที่ปลูกกันแพร่หลายในภาคตะวันออกคือ สะละพันธุ์ไทย จะมีรูปร่างยาวรี เปลือกมีสีน้ำตาลแดงถึงส้ม เนื้อสีชมพู ส้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยวและเนื้อติดเมล็ด

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดพัทลุง รายหนึ่งที่ปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งในสวนไม้ผล ในรูปแบบการเกษตรแบบผสมผสาน จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรที่กล่าวถึงก็คือ คุณวิเชียร ชูปาน อายุ 52 ปี บ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง

คุณวิเชียร เล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของครอบครัวก็คือ การทำสวนยาง และสวนไม้ผล ก่อนหน้านี้เคยปลูกทุเรียน ขนุน มะม่วง และไม้ผลพื้นเมืองต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ผล เนื่องจากขาดน้ำ เมื่อปลูกมาได้ระยะหนึ่งก็คิดทบทวนว่า น่าจะปลูกไม้ผลชนิดอื่นแทน ก็เลยตัดสินใจโค่นต้นทุเรียน แล้วหันมาปลูกมังคุด ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเนื่องจากมีที่ดินจำกัด เลยคิดว่าน่าจะใช้ที่ดินที่มีอยู่ทั้งหมดปลูกพืชให้คุ้มค่าที่สุด ก็เลยเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับพืชแซม พืชร่วมไม้ผล

คุณวิเชียร กล่าวว่า นับว่าโชคดีที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสะลักพันธุ์น้ำผึ้ง หรือ สะลักอินโดฯ จากเกษตรกร และพรรคพวกเพื่อนฝูงที่จังหวัดนราธิวาส ที่บอกว่าสามารถปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งในที่ร่มเป็นพืชแซมได้ ก็เลยเดินทางไปดูของจริงที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา พอเห็นกับตาแล้วว่าสามารถปลูกได้ ก็เลยทดลองซื้อมาปลูกตอนนั้นเรียกว่า "พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง" สายพันธุ์จากอินโดนีเซีย ซื้อมาประมาณ 30 ต้น โดยปลูกระหว่างแถวต้นมังคุด ระยะ 3x3 เมตร พอเห็นว่า ในพื้นที่ จังหวัดพัทลุง ก็สามารถปลูกได้ เช่นเดียวกับที่จังหวัดนราธิวาส ก็เลยซื้อมาปลูกเพิ่ม ขณะนี้มีสะลักพันธุ์น้ำผึ้งประมาณ 200 ต้น และให้ผลผลิตแล้วประมาณ 100 ต้น สะลักพันธุ์น้ำผึ้งใช้เวลาประมาณ 3 ปีเต็ม ก็ให้ผลผลิตแล้ว สำหรับผลผลิตในปีที่ผ่านมาถือว่ามากที่สุด ขายได้ประมาณ 100 กิโลกรัม ขายในพื้นที่กิโลกรัมละ 70 บาท บางพื้นที่เขาขายกันกิโลกรัมเป็นร้อยบาท แต่เราขายในราคาเป็นกันเอง

"สะลักน้ำผึ้ง เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เนื่องจากหอม หวาน กรอบ รสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังมีผลผลิตออกมาน้อย ตอนแรกไปไหนมาไหนก็พาไปให้เขาชิม แล้วก็ติดใจทุกราย เลยมีเป้าหมายในการทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยการดูแลเอาใจใส่ต้นสะลักน้ำผึ้งอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นอกจากจะจำหน่ายในลักษณะของผลสดแล้ว ยังเพาะกล้าพันธุ์ไว้จำหน่ายด้วย เนื่องจากมีเกษตรกรหลายรายเรียกร้อง ที่ผ่านมาสามารถจำหน่ายในลักษณะของกล้าพันธุ์ได้มากพอสมควร" คุณวิเชียร กล่าว

สำหรับขั้นตอนการผลิตกล้าพันธุ์สะลักพันธุ์น้ำผึ้งนั้น คุณวิเชียร กล่าวว่า เริ่มจากการนำเมล็ดสะลักพันธุ์น้ำผึ้งไปเพาะในกระบะทราย ประมาณ 10 วัน ก็งอก เมื่อกล้ามีลำต้นยาวประมาณ 2-3 ข้อมือ ก็นำไปปลูกในถุงได้เลย แล้วก็ดูแลต้นกล้า หมั่นรดน้ำเช้าเย็นตามปกติ ประมาณ 1 ปี ก็สามารถนำต้นกล้าไปปลูกได้ สำหรับปีที่ผ่านมาผลิตต้นกล้าสะลักพันธุ์น้ำผึ้งได้ประมาณ 200 ต้น ขายหมดเกลี้ยง และในปีนี้ก็วางแผนเพาะกล้าเตรียมสต๊อคไว้แล้ว คาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ไม่สามารถเพาะกล้าพันธุ์สะลักพันธุ์น้ำผึ้งได้จำนวนมาก เนื่องจากมีเมล็ดจำกัด และไม่สามารถไปหาซื้อเมล็ดที่ไหนได้ ต้องเก็บเมล็ดจากผลผลิตในสวนของตนเองทั้งหมด

ในส่วนของการปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งนั้น คุณวิเชียร กล่าวว่า พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งนั้นต้องเป็นที่ร่ม ถ้าเป็นพื้นที่กลางแจ้งต้องขึงซาแรนให้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ผล อาจจะปลูกร่วมในสวนไม้ผล หรือสวนยางพาราก็ได้ นั่นคือ ต้องมีแสงแดดส่องถึงประมาณ 50% ถ้าปลูกในสวนยางก็ปลูกระหว่างร่องยางนั่นเอง เช่นเดียวกับการปลูกแซมในร่องมังคุดของตน

สำหรับสะลักพันธุ์น้ำผึ้งนั้นมีข้อดี คือ ไม่เลือกดิน ทนแล้งได้ดี การเตรียมดินในการปลูกถ้าให้ดีก็รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ก็สามารถปลูกได้แล้ว พอปลูกได้ระยะหนึ่งเมื่อสังเกตเห็นว่าต้นเริ่มงามก็ใส่ปุ๋ยชีวภาพ หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมีก็ได้ แต่แนะนำว่าปุ๋ยชีวภาพจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า จากนั้นเกษตรกรก็ควรสนใจในการตัดแต่งกิ่งเป็นระยะๆ ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งก็คือ แมลงกินยอดอ่อนที่เพิ่งแตกใหม่ ถ้าหากปล่อยไว้ก็จะกัดกินจนถึงโคน สะลักพันธุ์น้ำผึ้งก็จะตายในที่สุด วิธีป้องกันแมลงกินยอดก็คือ นำขวดน้ำพลาสติคมาครอบไว้จนถึงโคน ไม่ต้องพึ่งสารเคมี แมลงก็ไม่สามารถชอนไชไปได้ และได้ทดลองมาระยะหนึ่งแล้วก็พบว่าได้ผล

คุณวิเชียร กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งให้ได้ผลก็คือ การผสมเกสร เนื่องจากการผสมตามธรรมชาติไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เกษตรกรจะต้องหมั่นผสมเกสรเพื่อให้ติดผล วิธีสังเกตต้นตัวผู้จะเป็นงวงยื่นออกมามีเกสรสีเหลือง ส่วนต้นตัวเมียจะเป็นดอกพุ่มสีแดง ถ้ารดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ ตัวผู้ก็จะติดเกสรมาก ถ้าขาดน้ำดอกก็จะแห้งโรยไป ดังนั้น เกษตรกรจะต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งต้นตัวผู้ให้เหมือนต้นตัวเมีย เพราะเวลาเก็บเอาดอกมาผสมจะเก็บได้ง่าย การผสมเกสรก็ทำไม่ยากนักคือ นำดอกตัวผู้มาเคาะลงบนดอกตัวเมีย ถ้าไม่เคาะก็ติดเหมือนกัน แต่จะไม่มีเนื้อ ผลจะแห้งเหี่ยวไปในที่สุด สำหรับการเคาะดอกเพื่อผสมเกสรก็ทำได้ทุกเวลา พอดอกเริ่มบานก็เริ่มเคาะได้แล้ว สำหรับเกสรตัวผู้เมื่อเหลือก็สามารถเก็บแช่ตู้เย็นไว้ได้ ประมาณ 4-5 วัน จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มติดผล เป็นลูกสีดำเล็กๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรจะต้องใส่ใจ หมั่นผสมเกสร บำรุงรักษาอย่างดี ถ้าปลูกทิ้งขว้างไว้ก็ไม่ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

ด้าน คุณนิยม แดงไชยศรี เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน กล่าวว่า เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอศรีบรรพต ส่วนใหญ่จะทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก บางส่วนก็ปลูกไม้ผลไปด้วย ทั้งนี้ คิดว่าเกษตรกรควรจะใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจจะปลูกพืชแซม

พืชร่วมยาง หรือปลูกผักสวนครัวต่างๆ ด้วยก็ได้ ในส่วนของคุณวิเชียร ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดพัทลุง ที่รู้จักบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการทำสวนยางพาราแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ คุณนิยม ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินไม่ควรมองข้ามคือ การยึดปรัชญา แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต รู้จักการลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว อยู่อย่างพอเพียงเท่านี้ชีวิตก็มีความสุขไปอีกขั้นแล้ว

นี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดพัทลุง ที่รู้จักใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากที่สุด แม้ว่าจะมีที่ดินอยู่อย่างจำกัดแต่ถ้ารู้จักบริหารจัดการอย่างดีแล้ว ปริมาณการถือครองที่ดินก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพการเกษตรแบบพอเพียงต่อไป สำหรับเกษตรกรท่านใดที่สนใจการปลูกสะลักพันธุ์น้ำผึ้งในสวนไม้ผลของคุณวิเชียร สามารถติดต่อเจ้าตัวโดยตรงตามที่อยู่ข้างต้น หรือที่เบอร์โทรศัพท์ (074) 689-558 และ (086) 289-8285
 http://siweb.dss.go.th/qa/search/search_description.asp?QA_ID=641
siweb.dss.go.th/qa/search/search_description.asp?QA_ID... -






หน้าก่อน หน้าก่อน (1/3) - หน้าถัดไป (3/3) หน้าถัดไป


Content ©